จำนวนผู้เข้าชม 0 ครั้ง


ยิ่งพิการ...ยิ่งเปราะบาง
แล้วคุณคิดว่าเศรษฐกิจครัวเรือนคนพิการเป็นอย่างไร?

เผยแพร่ : กรกฎาคม 2567

bck

เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อันเนื่องมาจากรูปแบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตระหว่างประเทศ ส่งผลให้สินค้ามีการปรับราคาที่สูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศหันกลับมาใช้นโยบายพึ่งพาตนเองมากขึ้น ผลิตสินค้าในประเทศ และกีดกันการค้าจากต่างประเทศ ประเทศไทยจึงอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนกระแสเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลกได้ ซึ่งปัจจุบันทั้งประเทศไทยและในหลายประเทศต่างตระหนักถึงการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันที่จะช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดช็อกและสามารถเติบโตได้ในกระแสโลกใหม่

อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาพบว่า หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยทั้งสิ้นอยู่ที่ 197,255 บาท นับได้ว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจค่อนข้างผันผวน สำหรับคนรวยมากเขาอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนักกับสถานการณ์เช่นนี้ หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า ถึงจะล้มก็ลุกได้ไว ถึงจะล้มก็ยังล้มบนฟูก แต่สำหรับกลุ่มคนอีกกลุ่มที่มีความอ่อนไหวหรือมีความเปราะบางทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสังคม และทางเศรษฐกิจที่เราไม่ควรมองข้าม นั่นคือ กลุ่มคนพิการ ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าใคร เรียกว่า ยิ่งพิการ...ยิ่งเปราะบาง เพราะกลุ่มคนพิการ มักถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสังคม มักจะไม่ได้รับโอกาสที่ดีเท่าเทียมคนปกติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโอกาส ในการศึกษา การเดินทางสาธารณะที่สะดวก ตลอดจนโอกาสในการทำงาน ทำให้บางครั้งพวกเขาไม่มีโอกาสได้เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้มากนักเฉกเช่นคนปกติทั่วไป

สุขภาพการเงินของครัวเรือนคนพิการ

การพัฒนาข้อมูลเพื่อการพัฒนาประชากรทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2566 พบว่า ครัวเรือนคนพิการ 1.89 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 7.9% ของครัวเรือนทั้งประเทศ มีรายได้ครัวเรือนทั้งสิ้นเฉลี่ย 22,806 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้าหากมาดูสัดส่วนครัวเรือนคนพิการตามกลุ่มรายได้ 5 กลุ่ม จะเห็นว่า ครัวเรือน 40% แรก มีสัดส่วนครัวเรือนคนพิการเกือบ 70% นั่นหมายความว่า ครัวเรือนคนพิการส่วนใหญ่มีรายได้น้อย

โดยในปี 2566 ครัวเรือนคนพิการมีหนี้สินทั้งสิ้นเฉลี่ย 134,068 บาท มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 18,786 บาท แล้วยังต้องมีภาระต้องชำระหนี้เฉลี่ยต่อเดือนอีกประมาณ 2,371 บาท

ครัวเรือนคนพิการที่มีปัญหาทางการเงิน มีรายได้ ค่าใช้จ่าย อะไรบ้าง?

ครัวเรือนคนพิการทั่วประเทศ 1.89 ล้านครัวเรือน พบว่า เป็นครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงิน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายมากถึง 30.9% ...แล้วครัวเรือนเหล่านี้มีรายได้จากแหล่งใด? และต้องใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไรบ้าง? เรามาดูศักยภาพในการหารายได้ของครัวเรือนเหล่านี้กัน

เมื่อพิจารณาที่มาของรายได้ครัวเรือนคนพิการทั้งกลุ่มที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาทางการเงินแล้ว จะเห็นว่าแหล่งรายได้ที่มีความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างสองกลุ่ม จะเป็นรายได้ในส่วนที่มาจากการทำงานหารายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนคนพิการที่มีปัญหาทางการเงินมีรายได้ที่มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง (2,933 บาทต่อเดือน) ต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน (8,535 บาทต่อเดือน) เกือบ 3 เท่า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในส่วนของรายได้จากการได้รับเงินช่วยเหลือของครัวเรือนคนพิการที่มีปัญหาทางการเงินกลับน้อยกว่าครัวเรือนที่ไม่มีปัญหา ครัวเรือนคนพิการทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคเฉลี่ย 17,022 บาทต่อเดือน และที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคเฉลี่ย 1,764 บาทต่อเดือน โดยครัวเรือนคนพิการที่มีปัญหาทางการเงิน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยสูงกว่าอยู่ที่ 17,148 บาทต่อเดือน และที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่ำกว่าอยู่ที่ 1,524 บาทต่อเดือน

หมวดค่าใช้จ่าย 3 อันดับแรก ที่แตกต่างกัน

ครัวเรือนคนพิการที่มีปัญหาทางการเงินมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเวชภัณฑ์และค่าตรวจรักษาพยาบาล 425 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน 333 บาท/เดือน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา 155 บาท/เดือน สูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน 134 บาท/เดือน และมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง 2,674 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน 2,365 บาท/เดือน ตามลำดับ

ศักยภาพในการหารายได้ของครัวเรือนคนพิการ

พิจารณาจากวัยแรงงานในครัวเรือน ซึ่งเป็นช่วงวัยหลักในการหารายได้จุนเจือครัวเรือน จะเห็นว่า ครัวเรือนไทยมีสมาชิกที่อยู่ในวัยแรงงานเฉลี่ย 1.62 คน จากสมาชิกทั้งหมดในครัวเรือนเฉลี่ย 2.67 คน (กล่าวคือ 3 ใน 5 ของคนในครัวเรือนหรือเกินครึ่งอยู่ในวัยแรงงาน) ในขณะที่ครัวเรือนคนพิการมีสมาชิกที่อยู่ในวัยแรงงานเฉลี่ย 1.57 คน จากสมาชิกทั้งหมดในครัวเรือนคนพิการเฉลี่ย 3.22 คน (กล่าวคือ มีวัยแรงงานไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนในครัวเรือน) ซึ่งหากพิจารณาลึกลงไปถึงวัยแรงงานในครัวเรือนคนพิการ จะพบว่า เป็นสมาชิกวัยแรงงานที่มีความพิการเฉลี่ย 0.48 คน และเป็นสมาชิกวัยแรงงานที่ไม่มีความพิการเฉลี่ย 1.09 คน นั้นหมายความว่า วัยแรงงานที่เป็นกำลังหลักของครัวเรือนที่แท้จริงมีเพียง 1 ใน 3 ของสมาชิกครัวเรือนคนพิการเท่านั้น

ข้อเสนอเพื่อการพัฒนา

รัฐอาจมีการพิจารณานโยบายหรือโครงการที่ช่วยเหลือครัวเรือนคนพิการในส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ที่นอกเหนือจากมาตรการโครงการที่มีให้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อาทิ

- หมวดเวชภัณฑ์และค่าตรวจรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยทั่วประเทศอยู่ที่ 311 บาท/เดือน แต่เมื่อเทียบกับครัวเรือนคนพิการทั่วประเทศที่ต้องมีการใช้จ่ายส่วนนี้ พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าอยู่ที่ 362 บาท/เดือน ยิ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางการเงินด้วยแล้วจะสูงถึง 425 บาท/เดือน

- หมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทยยังไม่ได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ การเดินทางมาเรียนหรือทำงานต้อง transit หลายครั้งและหลายรูปแบบการขนส่ง ซึ่งการขนส่งสาธารณะในบางรูปแบบอาจไม่เหมาะกับคนพิการบางกลุ่ม ทำให้คนพิการต้องเลือกรูปแบบขนส่งที่สะดวกกว่า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมา ดังนั้น หากรัฐมีนโยบายที่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับกลุ่มคนพิการที่มีความจำเป็นในการเดินทาง ให้สามารถเดินทางในชีวิตประจำวันในราคาที่จ่ายได้ก็จะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการได้อีกทางหนึ่ง

- หมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา ควรช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาไปเลยเต็มจำนวน เพราะการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถือเป็นการส่งเสริมในแง่ของการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างหนึ่ง ที่จะได้ช่วยส่งเสริมเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น อีกทั้งถ้าเทียบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ครัวเรือนคนพิการทั่วประเทศต้องจ่ายในส่วนนี้แล้วเพียง 141 บาท/เดือน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 322 บาท/เดือน อีกทั้งกลุ่มคนพิการจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาเพิ่มเติมมาอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น คนพิการทางสายตา ต้องมีอุปกรณ์อัดเสียงที่มีคุณภาพ สำหรับใช้ช่วยในการจดบันทึกให้ทันเพื่อน เป็นต้น


หมายเหตุ : ประมวลผลจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566