จำนวนผู้เข้าชม 0 ครั้ง

11 กรกฎาคม...วันประชากรโลก 2567

เผยแพร่ : 11 กรกฎาคม 2567

วันประชากรโลก

World Population Day

สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันประชากรโลก (World Population Day) ซึ่งเป็นผลมาจากความสนใจของคนทั่วโลกใน ‘วันห้าพันล้าน’ ซึ่งเป็นวันที่คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 5 พันล้านคน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2530 (ค.ศ. 1987) ตั้งขึ้นโดย สภาปกครองของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Governing Council of the United Nations Development Programme) ในปี 2532 (ค.ศ. 1989) เพื่อมุ่งความสนใจและความเร่งด่วนต่อความสำคัญประเด็นปัญหาของประชากร ในปี 2533 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ถือให้เป็นวันประชากรโลกต่อไป เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาประชากร รวมถึงความสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา   ผ่านมา 35 ปี จนถึงในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันที่สหประชาชาติคาดว่าประชากรโลกมีถึง 8 พันล้านคน หรือ “วันแปดพันล้าน”  โดยใช้เวลา 12 ปี ในการเพิ่มจาก 7 พันล้าน เป็น 8 พันล้านคน และคาดการณ์ในปี 2567 นี้จะมีมากกว่า 8.1 พันล้านคน และจะถึง 8.5 พันล้านคน ในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

แนวโน้มอัตราการเพิ่มประชากรโลกชะลอตัวลง จากอัตราการเกิดที่ลดลง ข้อมูลระหว่างปี 2543-2564 (ค.ศ. 2000-2021) อัตราเจริญพันธ์ลดลงจาก 2.73 เป็น 2.32 อัตราการเกิดลดลงจาก 21.79 เป็น 16.94 อายุคาดเฉลี่ยแรกเกิดเพิ่มจาก 66.45 ปี เป็น 71.05 ปี ซึ่งทำให้โลกกำลังเป็นสังคมสูงอายุ โดยสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ปี 2567 จะมีถึงร้อยละ 10 ทั้งนี้จากการคาดการณ์ที่อัตราการเจริญพันธุ์ระดับปานกลาง ในปี 2566 คาดว่าประชากรอินเดียจะแซงหน้าจีนเป็นครั้งแรกหลังจากที่จีนครองอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งประชากรทั้งสองประเทศรวมกันจะมีประมาณ 1 ใน 3 ของโลก โดยอินเดียมี 1,428.628 ล้านคน และจีน 1,425.671 ล้านคน รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา 339.997 ล้านคน อินโดนีเซีย 277.534 ล้านคน และปากีสถาน 240.486 ล้านคน

“ ประชากรในอาเซียนปี 2565 มีมากกว่า 670 ล้านคน และกำลังเป็นสังคมสูงอายุเช่นเดียวกับโลก "

ในกลุ่มประเทศอาเซียน จากข้อมูลปี 2565 มีประชากรรวมกันกว่า 670.1 ล้านคน ประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกแล้ว ยังเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ที่ 275.72 ล้านคน ฟิลิปปินส์รองลงมา 111.57 ล้านคน และเวียดนาม 99.46 ล้านคน ในส่วนของลาวและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุไม่เกิน 19 ปี ในสัดส่วนที่สูง คือร้อยละ 40.35 และ 38.95 ตามลำดับ ทั้งนี้อาเซียนกำลังเป็นสังคมสูงวัยเช่นเดียวกับโลก ที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 7.5 จากเกณฑ์สังคมสูงอายุกำหนดไว้ที่สัดส่วนร้อยละ 7.0 โดยสิงคโปร์มีสัดส่วนมากสุดคือ ร้อยละ 16.65 และไทยรองลงมาที่ร้อยละ 12.91 ตามด้วยเวียดนามที่ร้อยละ 8.27

“ ประชากรไทย 66.05 ล้านคน ลดลงต่อเนื่อง 4 ปี วัยแรงงานเริ่มลดลงเช่นเดียวกับวัยเด็ก และเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ ”

ประชากรของไทยที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์เมื่อสิ้นปี 2566 มีถึง 66.05 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย 9.91 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ประชากรในภาพรวมยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ นับแต่เพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2562 ที่มี 66.56 ล้านคน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) แนวโน้มของอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 11.6 คนต่อประชากรพันคน มาอยู่ที่ 7.4 ต่อประชากรพันคน ส่งผลให้สัดส่วนเด็กและวัยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ลดลงจากร้อยละ 26.0 มาอยู่ที่ ร้อยละ 21.7 ทั้งนี้ทำให้ไทยได้เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีถึงร้อยละ 20.0 ของประชากรประเทศ การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมานี้ส่งผลให้ทั้งจำนวนและสัดส่วนประชากรวัยแรงงานกำลังลดลงตามมา

ประชากรไทย ปี 2556-2566

คลิกดูข้อมูลแผนที่

หมายเหตุ : ข้อมูลทางทะเบียนอาจมีข้อจำกัดในการสะท้อนภาพการอยู่อาศัยจริงของประชากรจำนวนหนึ่งในระดับจังหวัด

“ การพัฒนาประชากรในหลายมิติที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไป ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ยังคงเป็นสิ่งท้าทายต่อทุกประเทศทั่วโลก ”

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรของโลกและของไทยยังคงเคลื่อนตัวไปพร้อมกับส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเปลี่่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศต่างวางนโยบายการพัฒนาภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบนทรัพยากรและทุนในมิติต่างๆ ที่มีอยู่ รวมถึงประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาคนทุกกลุ่มวัยในสภาพครัวเรือนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างและเหลื่อมล้ำในหลายมิติที่ยังคงอยู่มายาวนาน และภายใต้บริบทการเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่สภาพครัวเรือนไร้บุตรหลานและครัวเรือนคนเดียวมีมากขึ้น ในท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าครองชีพได้ปรับสูงขึ้น พร้อมกับหนี้ของครัวเรือนที่สูงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มอย่างสอดคล้องกัน ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่รายได้น้อยหรือคนในครัวเรือนฐานรากของประเทศ ที่จะส่งผลต่อการสะสมทุนความพร้อมเป็นวัยสูงอายุถัดไป อีกทั้งยังมีสภาพปัญหาทางสังคมที่บั่นทอนทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุคที่วัยแรงงานลดลง รวมถึงคุณภาพและศักยภาพของประชากรทุกคนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งขึ้น สภาพการณ์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายต่อการดำเนินนโยบายพัฒนาประชากรและประเทศในปัจจุบัน รวมถึงความพร้อมรับกับอนาคต


อ้างอิง :

  • https://www.un.org/en/observances/world-population-day/background
  • https://www.un.org/development/desa/pd/events/day-eight-billion
  • https://population.un.org/wpp
  • https://www.unfpa.org/data/world-population-dashboard
  • World population prospects 2022, UNDESA