การจัดการคุณภาพสถิติทางการ
การจัดการคุณภาพสถิติทางการ
สถิติทางการเป็นข้อมูลสำคัญของประเทศที่ช่วยในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายเพื่อให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาใช้ในต้องเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพ เนื่องจากการมีข้อมูลที่มีคุณภาพจะส่งผลให้ผู้ใช้เกิดความไว้วางใจและเชื่อถือ สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจ วางแผน และประเมินผลการพัฒนาประเทศได้อย่างถูกต้องและทันเวลา ในทางกลับกันเพราะหากใช้ข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพอาจทำให้ได้ผลการวิเคราะห์ไม่ถูกต้องและส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
คำว่า “คุณภาพ” ในความหมายของสถิติทางการ หมายถึง “สถิติที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือเหมาะสมกับวัตถุประสงค์/การนำไปใช้ (fit for use) โดยมีกระบวนการผลิตสถิติที่ดีตามหลักวิชาการ ถูกต้อง เชื่อถือได้ ทันเวลา สอดคล้องและมีมาตรฐาน”
การจัดการคุณภาพแบบองค์รวม (TQM) เป็นแนวคิดด้านการจัดการคุณภาพในภาพรวมขององค์กรบนพื้นฐานของคำนิยาม “คุณภาพ” ที่ว่า ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ (fit for use) โดย The Deming Prize Committee ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “TQM คือ การดำเนินงานอย่างเป็นระบบที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในสินค้าและบริการภายใต้เวลาและราคาที่เหมาะสม” และได้กำหนดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ (1) การมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับลูกค้า (Customer Focus) (2) การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และ (3) การให้ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Involvement)
การจัดการคุณภาพแบบองค์รวม (TQM) เพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการ
กลไกการจัดการคุณภาพสถิติทางการ
ในการจัดทำแนวทาง แนวปฏิบัติ และคู่มือสาหรับการจัดการคุณภาพสถิติทางการ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการขับคลื่อนผ่านกลไกต่าง ๆ ได้แก่ คณะทำงานพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสถิติ (กลไกภายในหน่วยงาน) คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสถิติ คณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน และคณะรัฐมนตรี ตามลาดับ เพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศแนวทาง แนวปฏิบัติ และคู่มือดังกล่าวให้หน่วยสถิตินำไปใช้ในการจัดการคุณภาพสถิติ
หลักการพื้นฐานสถิติทางการ
คณะกรรมาธิการสถิติแห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองหลักการพื้นฐานสถิติทางการ (The Fundamental Principles of Official Statistics: FPOS) ที่เป็นเสมือนกรอบแนวทางการดำเนินงานในเชิงนโยบายเพื่อให้ได้สถิติทางการที่ดีมีคุณภาพ เชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบดำเนินงานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โดยเน้น 4 กลุ่มผู้ใช้ ได้แก่
กลุ่มผู้ใช้หลักการพื้นฐานสถิติทางการ
หลักการพื้้นฐานสถิติทางการ 10 ประการ
(The FumdamentalPrinciplesof OfficialStatistics: FPOS)
ประเทศไทยได้ยึดหลักการดังกล่าวในการพัฒนาสถิติทางการตามแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงาน อันได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ นำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้ได้สถิติทางการที่มีคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐาน UN หลักการพื้นฐานสถิติทางการ 10 ประการ ได้แก่
หลักการที่ 1 : ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ มีความเป็นกลาง และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
หลักการที่ 2 : ผลิตตามมาตรฐานวิชาชีพ หลักวิชาการ และจรรยาบรรณ
หลักการที่ 3 : เผยแพร่อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
หลักการที่ 4 : ป้องกันการใช้อย่างไม่ถูกต้อง
หลักการที่ 5 : เลือกแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม
หลักการที่ 6 : รักษาข้อมูลเป็นความลับ
หลักการที่ 7 : เผยแพร่กฎหมายเกี่ยวกับระบบสถิติ
หลักการที่ 8 : ประสานความร่วมมือภายในประเทศ
หลักการที่ 9 : ใช้มาตรฐานสากล
หลักการที่ 10 : พัฒนาระบบสถิติผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ
แนวทางการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการ 10 ประการ
(The Fundamental Principles of Official Statistics Implementation Guidelines)
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการ (Thailand Fundamental Principles of Official Statistics : Implementation Guidelines) อ้างอิงจาก United Nations Fundamental Principles of Official Statistics : Implementation Guidelines เพื่อให้หน่วยสถิติใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการผลิตสถิติทางการที่มีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิบัติให้หน่วยสถิตินำไปดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติที่ดีของประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ และแนวทางการนาหลักการความเป็นอิสระไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดี กฎหมายทางด้านสถิติ และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แนวทางการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ 1 แนวทางการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการ โดยแบ่งโครงสร้างเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ · วัตถุประสงค์ อธิบายวัตถุประสงค์ของหลักการพื้นฐานสถิติทางการ · ความเสี่ยง อธิบายความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไม่ปฏิบัติตามหลักการฯ · แนวทางการปฏิบัติ อธิบายการดำเนินการหรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยสถิตินำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยนำเสนอประเด็นหรือมิติที่สำคัญและจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้การปฏิบัติประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ส่วนที่ 2 แนวทางการนำหลักการความเป็นอิสระไปสู่การปฏิบัติ ได้แบ่งโครงสร้างเนื้อหาเช่นเดียวกันกับส่วนที่ 1 ได้แก่ วัตถุประสงค์ ความเสี่ยง และแนวทางการปฏิบัติพร้อมตัวอย่างประกอบ |
หลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย
(Thailand Code of Practice: TCoP)
หลักพื้นฐานสถิติทางการ 10 ประการของสหประชาชาติที่เปรียบเสมือนกรอบแนวทางการดำเนินงานในเชิงนโยบายเพื่อให้ได้สถิติทางการที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้เข้าใจง่ายและสามารถปฏิบัติได้ ประเทศไทยจึงนำหลักการพื้นฐานสถิติทางการมาถอดออกเป็นหลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย หรือ Thailand Statistics Code of Practice: TCoP เพื่อเป็นแนวทางให้กับหน่วยสถิติต่างๆ ในการพัฒนา การผลิต การเผยแพร่ และการให้บริการสถิติทางการอย่างมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ และใช้เป็นแนวทางการจัดการคุณภาพสถิติทุกประเภท เช่น สถิติจากการสำมะโน/สำรวจด้วยตัวอย่าง สถิติจากการบริหารงาน เป็นต้น ตลอดทั้งกระบวนการจัดทำสถิติตาม GSBPM ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเชื่อมั่นว่าการนำหลักปฏิบัติสำหรับการจัดการคุณภาพการผลิตสถิติทางการมาใช้จะส่งผลให้ข้อมูลมีคุณภาพ อันจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการนำข้อมูลไปใช้ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้ข้อมูลในทุกภาคส่วนต่อเนื่องกันไป โดยระยะแรกของการพัฒนาสถิติทางการกำหนดให้ครอบคลุม 9 หลักปฏิบัติโดยชุดตัวชี้วัดคุณภาพในแต่ละหลักปฏิบัติ ดังนี้ หลักปฏิบัติข้อที่ 1: ความเป็นอิสระและความเป็นมืออาชีพ (Professional and Independence) หลักปฏิบัติข้อที่ 2: การรักษาข้อมูลเป็นความลับโดยเคร่งครัด (Statistical Confidentiality) หลักปฏิบัติข้อที่ 3: ความถูกต้องของระเบียบวิธีทางสถิติ (Sound Methodology) หลักปฏิบัติข้อที่ 4: กระบวนการสถิติที่เหมาะสม (Appropriate Statistical Procedures) หลักปฏิบัติข้อที่ 5: ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ (Relevance) หลักปฏิบัติข้อที่ 6: ความถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ (Accuracy and Reliability) หลักปฏิบัติข้อที่ 7: ความเหมาะสมของเวลาและการตรงต่อเวลา (Timeliness and Punctuality) หลักปฏิบัติข้อที่ 8: ความสอดคล้องและสามารถเปรียบเทียบได้ (Coherence and Comparability) หลักปฏิบัติข้อที่ 9: การเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย (Accessibility) |
แนวทางการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติเพื่อการจัดการ
คุณภาพสถิติทางการประเทศไทย
(Thailand Code of Practice Implementation Guidelines)
สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย (Thailand Code of Practice Implementation Guidelines) เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิบัติให้หน่วยสถิตินำไปดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้หน่วยสถิตินำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและใช้เป็นหลักฐานสำหรับการประเมินตามตัวชี้วัดในแต่ละหลักปฏิบัติ โดยพิจารณาจากวิธีการ เครื่องมือ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดการคุณภาพสถิติของหน่วยงาน ในการจัดทำแนวทางการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย (Thailand Code of Practice Implementation Guidelines) ฉบับนี้ ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของ
1. European Statistical System Quality Assurance Framework (Version 1.0)
2. European Quality Assurance Framework (Version 1.2)
3. Quality Assurance Framework of The European Statistical System (Version 2.0)
4. United Nations National Quality Assurance Frameworks Manual for Official Statistics
5. กรอบการดำเนินงานการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย
แนวปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย เป็นแนวปฏิบัติภายใต้หลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย แบ่งวิธีการปฏิบัติออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. วิธีการปฏิบัติในระดับองค์กร เป็นการปฏิบัติที่แสดงถึงการดำเนินงานของหน่วยงานในภาพรวม เช่น กฎหมาย นโยบาย แนวปฏิบัติ คู่มือ การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เป็นต้น
2. วิธีการปฏิบัติในระดับกระบวนการผลิต/ผลผลิต เป็นการปฏิบัติที่แสดงถึงการดำเนินงานในระดับโครงการหรือแผนการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งส่วนที่เป็นกระบวนการผลิตสถิติและผลผลิตสถิติ เช่น การพัฒนาระเบียบวิธีทางสถิติ มาตรฐานการผลิตสถิติ การควบคุมการเปิดเผยข้อมูล การเผยแพร่สถิติ เป็นต้น
การประเมินคุณภาพสถิติทางการ
การประเมินคุณภาพเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของผลผลิต หากหน่วยสถิติต้องการพัฒนาข้อมูลสถิติให้มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีการประเมินคุณภาพอย่างเป็นระบบจึงจะสามารถควบคุมกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเก็บรวบรวม การถ่วงน้ำหนัก หรือกระบวนการอื่น ๆ ก็ตาม อีกทั้งการประเมินอย่างเป็นระบบยังช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตและเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพส่งต่อให้กับผู้ใช้ และเมื่อพิจารณาในมุมของผู้ใช้ การประเมินคุณภาพเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นกับผู้ใช้เพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำผลผลิตไปใช้ได้อย่างถูกต้องจากเหตุผลที่กล่าวมาสรุปได้ว่า การประเมินคุณภาพเป็นหนึ่งในงานสำคัญของหน่วยสถิติที่ควรมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ
การเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินคุณภาพสถิติทางการ
1. กำหนดคณะทำงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านคุณภาพสถิติทางการเพื่อกำกับดูแล ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวัดผลการดำเนินงานด้านคุณภาพข้อมูล รวมถึงกำหนดบทบาทหน้าที่ในการจัดการคุณภาพให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
2. กำหนดนโยบายคุณภาพสถิติทางการ กลยุทธ์ และวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนเพื่อให้ทราบถึงเป้าหมายและแนวทางในการจัดการคุณภาพ
3. กำหนดนิยามคุณภาพให้ชัดเจนและเหมาะกับบริบทขององค์กรหรืออ้างอิงคำนิยามคุณภาพสถิติทางการตาม TCoP ดังนี้ “สถิติที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือเหมาะสมกับวัตถุประสงค์/การนำไปใช้โดยมีกระบวนการผลิตสถิติที่ดีตามหลักวิชาการถูกต้องเชื่อถือได้ทันเวลาสอดคล้องและมีมาตรฐาน”
4. ชี้แจงบุคลากรที่รับผิดชอบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตสถิติทางการให้ยอมรับและมีความเข้าใจว่าตนเองนั้นมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในการดำเนินงานเพื่อให้สถิติทางการที่ผลิตได้มีคุณภาพ และตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพของผลผลิตสถิติทางการ โดยต้องปฏิบัติงานภายใต้ระบบการจัดการคุณภาพสถิติทางการของหน่วยสถิติที่สังกัดอย่างเคร่งครัดรวมถึงให้ความรู้หรือจัดการอบรมเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพสถิติทางการให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด
แบบประเมินคุณภาพสถิติทางการด้วยตนเองเบื้องต้น
แบบสำรวจความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพสถิติทางการ
แนวทางการประเมิน
แนวทางการประเมินคุณภาพจะแบ่งเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นพื้นฐาน (Fundamental Package) ขั้นกลาง (Intermediate Package) และขั้นสูง (Advanced Package) โดยมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นที่ 1 การประเมินคุณภาพสถิติทางการขั้นพื้นฐาน (Fundamental Package)
การประเมินคุณภาพสถิติทางการขั้นพื้นฐานเปรียบเสมือนการจัดการคุณภาพเพื่อให้เกิดการตระหนักในเรื่องของคุณภาพและมีการจัดทำเอกสารรายงานคุณภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินคุณภาพอย่างเป็นระบบ
ขั้นที่ 2 การประเมินคุณภาพสถิติขั้นกลาง (Intermediate Package)
การประเมินคุณภาพสถิติขั้นกลางจะยังคงใช้วิธีการและเครื่องมือเช่นเดียวกับขั้นพื้นฐาน แต่จะมีการเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น การประเมินจะครอบคลุมทุกหลักปฏิบัติแต่จะเลือกเพียงบางตัวชี้วัด รวมทั้งเพิ่มการประเมินตนเองและการตรวจประเมินเข้ามา
ขั้นที่ 3 การประเมินคุณภาพสถิติทางการขั้นสูง (Advanced Package)
การประเมินคุณภาพสถิติขั้นสูงเป็นระดับที่เข้มข้นมากที่สุด จะยังคงใช้วิธีการและเครื่องมือเช่นเดียวกับขั้นกลาง การประเมินจะครอบคลุมทุกหลักปฏิบัติและทุกตัวชี้วัด โดยจะเน้นไปที่การประเมินคุณภาพของกระบวนการผลิตสถิติ โดยมีการให้การรับรองว่าสถิติที่ผลิตได้นั้นเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ
ในการพัฒนาข้อมูลสถิติทางการให้มีคุณภาพ หน่วยสถิติที่ดำเนินการตามหลักปฏิบัติของ TCoP ได้อย่างครบถ้วน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และพร้อมสำหรับการประเมินคุณภาพ สามารถทำการประเมินได้โดยเริ่มจากการประเมินขั้นพื้นฐานก่อนแล้วจึงยกระดับความเข้มข้นของการประเมินเพิ่มขึ้นทีละขั้นจนถึงการประเมินขั้นสูง