NSO

ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์

0

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดตัว “โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566” เดินหน้าสร้างฐานข้อมูล ขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศสู่ความก้าวหน้า

31 พฤษภาคม 2566 จำนวนคนเข้าชม 643
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดตัว “โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566” เดินหน้าสร้างฐานข้อมูล ขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศสู่ความก้าวหน้า

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดตัว 
“โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566”
เดินหน้าสร้างฐานข้อมูล ขับเคลื่อนภาคการเกษตร
ของประเทศสู่ความก้าวหน้า

          วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดตัวโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 เดินหน้าจัดทำสำมะโนการเกษตร เก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตร(ครัวเรือน/สถานประกอบการเกษตร) ที่อยู่ในระบบทะเบียนเกษตรกรและนอกระบบทะเบียนเกษตรกร โดยดำเนินการในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อนำมาประมวลผลเป็นข้อมูลสถิติ และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “เราวางแนวทางและกำหนดนโยบายในการพัฒนาด้านการเกษตรทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น โดยข้อมูล ที่รวบรวมในสำมะโนการเกษตร ได้แก่ จำนวนผู้ถือครองทำการเกษตร ขนาดเนื้อที่ถือครองทำการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร การประกอบกิจกรรมทางการเกษตร และปัจจัยทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อให้มีข้อมูลสถิติที่นำเสนอผลในระดับพื้นที่ย่อย (หมู่บ้าน/ชุมชน) ได้ ตามที่องค์การอาหารและการเกษตร แห่งสหประชาชาติ (FAO) มีข้อแนะนำให้ประเทศสมาชิกจัดทำสำมะโนการเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์ อย่างเพียงพอสำหรับการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาประเทศด้านการเกษตรและคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคการเกษตร ของประเทศ พร้อมทั้งสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างประเทศได้ สำหรับการจัดทำสำมะโนการเกษตรของประเทศไทยนั้น สสช. ได้จัดทำมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2556 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะ ของ FAO ที่ให้ทุกประเทศจัดทำสำมะโนการเกษตรทุก
10 ปี เป็นอย่างน้อย สสช. จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำ สำมะโนการเกษตรอีกครั้งในปี พ.ศ. 2566” ทางด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การจัดทำสำมะโนการเกษตรในครั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ยกระดับวิธีการจัดทำ สำมะโนให้ทันสมัย และเป็นมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูล โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกลาง หรือ Farmer One มาสร้างเป็นฐานข้อมูลผู้ถือครองการเกษตร สำหรับสำมะโนการเกษตรกรและพัฒนาไปสู่การจัดทำสำมะโนจากข้อมูลทะเบียนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีข้อมูลอย่างเพียงพอในการติดตามและกำหนด แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศรวมถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยหน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้ข้อมูลสำมะโนที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือไปพัฒนาการจัดทำสถิติด้านการเกษตรของประเทศด้วยรูปแบบการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน” การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับใช้ในการดำเนินการโครงการสำมะโนการเกษตร ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลที่สามารถใช้อ้างอิงในการเปรียบเทียบกับนานาชาติได้ และในการรวบรวมข้อมูลการจัดทำโครงการสำมะโนการเกษตรใน พ.ศ. 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเก็บข้อมูลทั้งผู้ที่อยู่ในระบบทะเบียนและนอกระบบทะเบียนจากเกษตรกรทุกรายสำหรับการวางแผนและพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ โดยการเก็บข้อมูลสำมะโนการเกษตรครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
                        • การปลูกพืช เช่น ข้าว ยางพารา พืชยืนต้น ไม้ผลและสวนป่า รวมไปถึงไม้ดอกไม้ประดับทุกชนิด
                        • การเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ไก่ เป็ด ห่าน ไหม และสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ขัดต่อ
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 • การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด (รวมถึงการเพาะฟัก/รวมถึงการอนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด) ได้แก่สัตว์จำพวกปลา กุ้ง และสัตว์น้ำอื่น ๆ
                       ​​​• การทำนาเกลือสมุทร การดำเนินโครงการสำมะโนการเกษตรในครั้งนี้ มีระยะเวลาการเก็บข้อมูล
ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยผู้ที่เก็บรวบรวมข้อมูล คืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อาสาสมัครเกษตรประเภทอื่นภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการปฏิบัติงานดังกล่าว การทำสำมะโนการเกษตรเป็นกระบวนการทางสถิติในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และนำเสนอผลเพื่อให้เกิดข้อมูลสถิติการเกษตรที่ทันสมัย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในทุกภาคส่วน และยังเป็นฐานข้อมูลผู้ถือครองพื้นที่การเกษตรทั้งผู้ที่อยู่ในและนอกระบบทะเบียนการเกษตรโดยสามารถใช้ข้อมูลในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดข้อมูลการเกษตรระดับพื้นที่ย่อยไปจนถึงระดับประเทศเพื่อใช้ในการบริหารและกำหนดนโยบายเพื่อเกษตรกรและประชาชนในภาคเกษตร นอกเหนือจากนี้ การทำสำมะโนการเกษตรทำให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทาง การเกษตร การพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงประชากรภาคการเกษตรของประเทศ และข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรสามารถใช้เป็นกรอบตัวอย่าง (Sampling Flame) สำหรับการสำรวจด้านการทำเกษตรและเป็นช่องทางในการสะท้อนปัญหาที่สามารถเก็บข้อมูลความต้องการหรือข้อร้องเรียนของเกษตรกรได้อีกด้วย