ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เข้าร่วมงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2566
วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2566 โดยมี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยผลการสำรวจพบว่า ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง คนไทยมีการทำกิจกรรมดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น โดยเป้าหมายต่อไปในการขับเคลื่อนและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องเพิ่มความเท่าเทียม (Digital Inclusion) ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อีกทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดย่อยและขนาดย่อม ในการนำข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มมูลค่า แก่ธุรกิจ และภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งสามารถนำตัวชี้วัดและแนวนโยบายการพัฒนาดิจิทัลของประเทศจาก Thailand Digital Outlook ไปปฏิบัติและร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคตให้ทัดเทียมได้เทียบเท่ากับนานาประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้ เป็นการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักและได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) เป็นต้น ในการจัดเก็บ สำรวจ รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดและสถิติด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยมุ่งหวังนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้สำหรับประเมินผลจากการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการมา พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยต่อไป “โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook เป็นการดำเนินการต่อเนื่องของ สดช. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ นับเป็นปีที่ 5 ซึ่ง สดช. ได้ศึกษาตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศ อ้างอิงตามกรอบมาตรฐานสากลที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือองค์การ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) กำหนดไว้ จำนวน 94 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 8 มิติเชิงนโยบาย และดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดดังกล่าว ผ่านการสำรวจด้วยแบบสอบถาม 3 กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานบริการปฐมภูมิ เช่น โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และอาศัยข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงาน กสทช. องค์การ OECD องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ฯลฯ มาใช้ประกอบการศึกษาในปีนี้ การสำรวจพบว่าตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้น ได้แก่ มิติการเข้าถึง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยอยู่ที่ร้อยละ 89.50 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีการเข้าถึงร้อยละ 88.00 มิติการใช้งาน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยร้อยละ 87.60 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 85.00) มิติอาชีพ สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 คิดเป็นร้อยละ 35.96 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 34.40) มิติสังคม สัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ ช่วง 55-74 ปี ในปี พ.ศ. 2566 คิดเป็นร้อยละ 71.60 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่แค่เพียงร้อยละ 63.10 และมิติการเปิดเสรีของตลาด สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ ปี 2566 สูงถึงร้อยละ 31.53 เทียบกับปี 2565 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 26.29 ในมิติอื่น ๆ พบว่า มิติด้านนวัตกรรม มูลค่าการลงทุน ในอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.93 มิติความน่าเชื่อถือ ร้อยละผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับร้อยละ 14.52 และ มิติการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจดิจิทัล ปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 40.00 ของภาคอุตสาหกรรม สำหรับประเด็นสำคัญที่พบจากผลการสำรวจฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่า
(1) ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 ร้อยละ 11.9 ลดเหลือร้อยละ 6.5 ในปี 2566
(2) ผู้รับบริการออนไลน์ภาครัฐร้อยละ 66.17 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการปรับเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการใช้งาน
(3) ร้อยละ 75.92 ของหน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศมีการให้บริการออนไลน์ เพื่อเพิ่มทางเลือก/ช่องทางในการให้บริการ
(4) พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตสะท้อนให้เห็นการเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยคนไทยมีแนวโน้มใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7 ชั่วโมง 25 นาที ต่อวัน ส่วนกิจกรรมดิจิทัลที่คนไทยใช้งานในปี 2566 มากสุด คือ การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ตามด้วยใช้เพื่อสนทนา และ รับชม VDO Content
(5) สินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าแฟชั่น สินค้าอุปโภคบริโภค บริการ Delivery และสินค้า/บริการเพื่อความบันเทิง (6) ภาคธุรกิจตื่นตัวในเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก แต่การใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ยังกระจุกตัวในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
(7) แรงงานดิจิทัลทวีความสำคัญมากขึ้น ภาคธุรกิจบางส่วนมีการจัดจ้าง Digital Nomad มาทดแทนแรงงานที่หายาก/ขาดแคลน อีกทั้งในอนาคต ยังมีความต้องการสายงานดิจิทัลอยู่อีกมาก
(8) คนไทยส่วนใหญ่มีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงาน แต่ทักษะสำคัญเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและทักษะเพื่อรองรับอนาคตยังไม่สูง ยกเว้นคนรุ่นใหม่ในเรื่อง Coding
(9) ปัญหาการใช้งานดิจิทัลทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง/เว็บพนัน/ลามก ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของภาคประชาชน
ด้าน นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สดช. ได้สำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ครอบคลุมตัวชี้วัดตามกรอบ Digital Economy Outlook ของ OECD ตลอดจนศึกษาเพิ่มเติมในกรอบตัวชี้วัดที่สะท้อนบริบทของประเทศไทย อันจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่สะท้อนภาพ Thailand Digital Outlook ที่เด่นชัด เห็นถึงจุดเด่นของการพัฒนาด้านดิจิทัลที่ประเทศไทยมี เปรียบเทียบกับนานาประเทศ ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดที่จะต้องเร่งเข้าไปแก้ไข และพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นฐานข้อมูลตัวชี้วัดด้านดิจิทัลสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้พร้อมกันนี้ ภายในงานได้จัดเวทีเสวนา หัวข้อ “Thailand Digital Outlook บทเรียน 5 ปีของการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ และในอนาคต การพัฒนาดิจิทัลไทยแลนด์ควรไปต่ออย่างไร” โดยวิทยากรรับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) ได้ร่วมกันพูดคุยหารือเกี่ยวกับการบูรณาการการสำรวจและการแลกเปลี่ยนข้อมูล Thailand Digital Outlook ใน 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงถอดบทเรียนในประเด็นการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ และในอนาคตการพัฒนาดิจิทัล