ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์
สสช.เดินหน้าสำมะโนอุตสาหกรรม 2560 ย้ำเศรษฐกิจจะดีหากประเทศมีข้อมูลที่ถูกต้อง
สสช.เดินหน้าสำมะโนอุตสาหกรรม 2560 ย้ำเศรษฐกิจจะดีหากประเทศมีข้อมูลที่ถูกต้อง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้า “สำมะโนอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560” ส่งคุณมาดีลงพื้นที่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม นี้ เพื่อเก็บข้อมูล จากสถานประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ให้ข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วนด้วยดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการยกระดับ การพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลมีกรอบนโยบายด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น การจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอี (SMEs) หรือกลุ่ม Start up สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการดำเนินงานนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลสถิติที่มีความแม่นยำ ถูกต้อง ทันสมัย จากสำมะโนอุตสาหกรรมในการกำหนดนโยบาย และกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้าตามกรอบการพัฒนาประเทศไทย 4.0 นางนวลนภา ธนศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2560 โดยมีเจ้าหน้าที่ คือ“คุณมาดี” ที่มีบุคลิกที่เป็นมิตร สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นกันเอง เข้าพบและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดของสถานประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ ประเภทอุตสาหกรรม และขนาดของสถานประกอบการ ชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต จำนวนคนทำงาน ลูกจ้างและค่าตอบแทนแรงงาน ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ผลผลิตและรายรับ วัตถุดิบและสินค้าคงเหลือต้นปีและปลายปี และสินทรัพย์ถาวร จากสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อที่รัฐจะได้วางแผนกำหนดนโยบายและพัฒนาได้ตรงกับความต้องการ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลที่ได้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งบริหารและควบคุมการดำเนินกิจการในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วนของนักวิชาการ นักวิจัย และสถาบันการศึกษา สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในความสนใจและเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และขอให้ท่านผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่ให้มาจะไม่รั่วไหล ไม่เกี่ยวพันข้อกฎหมาย และไม่โยงใยเรื่องภาษีแน่นอน และหากผู้ประกอบการสงสัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของทางราชการหรือไม่ สามารถขอดูบัตรประจำตัว ซึ่งออกโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ นางนวลนภาฯ กล่าว