NSO

ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์

0

สำนักงานสถิติฯ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายและมาตรการ สำหรับสังคมเด็กเกิดน้อย พ.ศ. 2562

4 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวนคนเข้าชม 294
สำนักงานสถิติฯ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายและมาตรการ สำหรับสังคมเด็กเกิดน้อย พ.ศ. 2562

สำนักงานสถิติฯ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายและมาตรการ สำหรับสังคมเด็กเกิดน้อย พ.ศ. 2562

      นายภุชพงค์  โนดไธสง  ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน  ต่อนโยบายและมาตรการสำหรับสังคมเด็กเกิดน้อย พ.ศ. 2562 เพื่อศึกษาผลกระทบของภาวะสังคมสูงวัยและเด็กเกิดน้อยต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคม   ของไทย โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 15 –49 ปี  ทั่วประเทศ และบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ลงในเครื่อง Tablet ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562  สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายและมาตรการสำหรับสังคมเด็กเกิดน้อย พ.ศ. 2562 เพื่อทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อ และค่านิยม ความสุขและความพึงพอใจกับชีวิต รวมถึงความรู้ความเข้าใจเรื่องการเจริญพันธุ์ ความต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือตามมาตรการสนับสนุนการมีบุตรและการเลี้ยงดูบุตร เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลได้ศึกษา   ผลกระทบของภาวะสังคมสูงวัยและเด็กเกิดน้อยต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย  ตลอดจนเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย   นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางประชากรที่สำคัญ ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ใน ปี พ.ศ. 2564 และอัตราการเจริญพันธุ์มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระดับที่เรียกว่า อัตราการเจริญพันธุ์ระดับต่ำมาก(ultra low fertility) ที่ 1.3 หรือน้อยกว่า สำหรับปัญหาที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์นั้น ถือได้ว่าเป็นปัญหาเชิงซ้อนที่มาจากหลายสาเหตุและหลายเงื่อนไข เช่น ทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันครอบครัว บทบาททางเพศ เงื่อนไขด้านอาชีพ     การงาน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ฯลฯ องค์กรภาครัฐจึงได้ริเริ่มโครงการและประกาศใช้มาตรการเพื่อตอบสนองปรากฏการณ์สังคมเด็กเกิดน้อย ซึ่งการออกนโยบายและมาตรการเพื่อตอบโจทย์ที่เป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศจำเป็นต้องอาศัยผลการสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวของประชากรไทยวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นประชากรเป้าหมาย เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และทราบถึงปัจจัยและกลไกที่ส่งผลต่อการสร้างครอบครัวของประชากรไทย จึงขอความร่วมมือครัวเรือนที่ตกเป็นตัวอย่างของการสำรวจครั้งนี้ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เจ้าหน้าที่ด้วย หากสงสัยขอดูบัตรประจำตัวได้ นายภุชพงค์ฯ กล่าว