ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์
แรงงานนอกระบบกับการทำงานในไทย
แรงงานนอกระบบกับการทำงานในไทย
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2559 จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 38.3 ล้านคน พบว่า เป็นแรงงานนอกระบบร้อยละ 55.6 คือผู้ที่มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน และอีกร้อยละ 44.4 เป็นผู้ทำงานที่ได้รับความคุ้มครอง หรือมีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือเรียกว่าแรงงานในระบบ จากการสำรวจตั้งแต่ปี 2554-2559 พบว่า ในช่วง 2554-2556 แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 24.6 ล้านคน ในปี 2554 เป็น 25.1ล้านคน ในปี 2556 ในขณะที่ปี 2557 เป็นต้นมา แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มลดลงจาก 22.1 ล้านคน ในปี 2557 เป็น 21.3 ล้านคน ในปี 2559 เนื่องจากรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญ และได้กำหนดมาตรการ นโยบาย รวมทั้งออกกฎหมายคุ้มครองและจัดสวัสดิการให้แก่แรงงานนอกระบบ เช่น การประกันสังคมตามมาตรา 40 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ใช้แรงงานรับใช้ในบ้าน สำหรับระดับการศึกษา พบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่มีการศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 34.9 ประถมศึกษาร้อยละ 27.0 มัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 15.3 มัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 13.7 และอุดมศึกษาร้อยละ 9.1 เมื่อพิจารณาการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2559 แรงงานนอกระบบร้อยละ 54.8 ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการและการค้าร้อยละ 34.0 และภาคการผลิตร้อยละ 11.2 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกต ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา แรงงานนอกระบบในภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนลดลง เพราะคนออกจากงานในภาคเกษตรกรรม มาทำงานในภาคบริการและการค้าทำให้ภาคบริการและการค้ามีสัดส่วนแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น สำหรับปัญหาของแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ ปัญหาค่าตอบแทนร้อยละ 52.8 การทำงานหนัก ร้อยละ 17.1 และไม่ได้รับการจ้างงานอย่างต่อเนื่องร้อยละ 16.6 ที่เหลือเป็นเรื่องของการ ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ เป็นต้น พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th นายภุชพงค์ฯ กล่าว