NSO

ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์

0

​แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2560”

29 มีนาคม 2562 จำนวนคนเข้าชม 300
​แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2560”

 ​แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2560”

      วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560” ณ โรงแรม รอยัลปริ๊นเซส หลานหลวงกรุงเทพฯ พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “การนำผลการสำรวจความพิการไปใช้ในการกำหนดนโยบาย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1) นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ   2) แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์  คณบดีวิทยาลัยราชสุดา  3) นายปราโมทย์   ธรรมสโรช เลขานุการสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และดำเนินการเสนวนา โดย นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล การสำรวจความพิการครั้งนี้ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย สนับสนุนทางด้านวิชาการและทรัพยากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการสำรวจและผลิตข้อมูลที่มีคุณภาพสามารถสะท้อนสถานการณ์ของผู้พิการของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงผลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจความพิการเป็นประจำทุก 5 ปี ได้สำรวจมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2545 2550 และ 2555 สำหรับการสำรวจปี 2560 นี้เป็นครั้งที่ 4 เก็บรวบรวมข้อมูลเดือนตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2560 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 109,000 ครัวเรือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประชากรพิการ (คือ ผู้ที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ หรือมีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา อย่างน้อย 1 ประเภท) ได้แก่ ข้อมูลภาวะสุขภาพ สวัสดิการ การใช้เครื่องช่วย การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งข้อมูลผู้ดูแลของประชากรพิการที่มีความลำบากในการดูแลตนเอง การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 เป็นครั้งแรกที่ใช้ชุดคำถามความพิการของเด็กอายุ 2-17 ปี (Child Functioning Module: CFM)    ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มวอชิงตัน (WashingtonGroup: WG)  และองค์การยูนิเซฟเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะความพิการที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และใช้ชุดคำถามความพิการของกลุ่มวอชิงตัน   สำหรับผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปอีกด้วย นอกจากนี้การสำรวจฯ ยังระบุความพิการจากลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา โดยสอบถามข้อมูลของประชากรทุกกลุ่มอายุตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นไปซึ่งสะท้อนภาพรวมของผู้พิการครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลสถิติผู้พิการที่จำเป็นต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนนโยบายสำหรับผู้พิการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลการสำรวจความพิการครั้งนี้ พบว่า ประเทศไทยมีประชากรพิการประมาณ 3.7 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5 ของประชากรทั่วประเทศ โดยพบผู้หญิงมีร้อยละของผู้พิการสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย (ร้อยละ 5.7 และ 5.2 ตามลำดับ) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 20.6    นอกจากนี้ยังพบว่า นอกเขตเทศบาลมีร้อยละประชากรพิการมากกว่าในเขตเทศบาล (ร้อยละ 6.2 และ 4.5 ตามลำดับ) โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรพิการสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 7.0 และ 6.5 ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาตามลักษณะความพิการ พบว่า เป็นประชากรที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม มีร้อยละ 4.1 หรือประชากรที่มีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา มีร้อยละ 4.2 สำหรับประชากรที่มีทั้งสองลักษณะ คือมีความลำบาก/ปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่อง มีร้อยละ 2.8 (1.9 ล้านคน) จากการสำรวจการเข้าถึงความช่วยเหลือหรือสวัสดิการของรัฐและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า ประชากรพิการเกือบทุกคนได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ (ร้อยละ 98.5) ประชากรพิการได้จดทะเบียนคนพิการร้อยละ 44.4 ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการร้อยละ 43.8 และมีเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 ที่จดทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ ซึ่งอาจจะอยู่ในระหว่างดำเนินการหรือยังไม่ได้ยื่นขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการ สำหรับประชากรพิการที่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการมีมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55.6) ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการจดทะเบียน (รวม ไม่คิดว่าตนเองพิการ) หรือความพิการไม่อยู่ในระดับที่จดทะเบียนได้ซึ่งมีค่อนข้างมากถึงร้อยละ 48.0 และมีอีกเพียงเล็กน้อยร้อยละ 7.6 ที่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการเนื่องจากไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียน ไม่มีคนพาไป และเดินทางไม่สะดวก เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีประชากรพิการอีกร้อยละ 15.1 มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยแต่ไม่มี และผู้พิการ 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.2) ต้องการความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐแต่ยังไม่ได้รับ ซึ่งความช่วยเหลือที่มีความต้องการมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และการให้คำแนะนำปรึกษา นอกจากนี้พบว่าเด็กพิการวัยเรียนอายุ 5-17 ปี มีถึงร้อยละ 37.8 ที่ปัจจุบันไม่ได้เรียน (รวมเด็กที่ไม่เคยเรียนหรือเคยเรียนแต่ปัจจุบันไม่ได้เรียน) ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่เนื่องจากป่วยหรือพิการจนกระทั่งไม่สามารถเรียนได้ รองลงมา คือ จบการศึกษาแล้ว และมีปัญหาทางความประพฤติ เป็นต้น สำหรับประชากรพิการวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี)เพียงร้อยละ 40.6 ที่มีงานทำ ส่วนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของประชากรพิการอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนน้อยมากคือ ผู้พิการที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีเพียงร้อยละ 5.8 และ 9.2 ตามลำดับ ผลการสำรวจข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชากรพิการยังได้รับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐบาล ไม่ครบถ้วนเพียงพอในเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การจดทะเบียนคนพิการ และอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับผู้พิการ ดังนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนช่วยเหลือผู้พิการในเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น