Thailand Statistical System Master Plan
แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 - 2565) ฉบับปรับปรุง
แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 - 2565) ฉบับปรับปรุง เป็นแผนที่มีการปรับปรุงกลยุทธ์และ โครงการให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยขยายกรอบระยะเวลาของแผนฯ ไปสิ้นสุดในปี 2565 ซึ่งให้ความสำคัญต่อโครงการที่ดำเนินการในระยะสั้น มีกระบวนการจัดทำสถิติเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายในการบริหาร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตลอดจนการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ในกระบวนการจัดทำสถิติซึ่งเป็นแนวโน้มการพัฒนาของสำนักงานสถิติทั่วโลก
โดยแผนแม่บทระบบสถิติฯ ฉบับปรับปรุงนี้ เป็นการพัฒนางานด้านสถิติที่ต่อเนื่องและปรับปรุง ในประเด็นสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อยกระดับข้อมูลสถิติของประเทศให้มีมาตรฐาน คุณภาพ สามารถบูรณาการ แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลสถิติ ทำให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้บริหารสามารถนำข้อมูลสถิติไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้สะดวก รวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสถิติสู่การสร้างสังคมคุณภาพด้วยการแบ่งปันข้อมูลสารสนเทศผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สนับสนุน ส่งเสริม และเอื้ออำนวยความสะดวกให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย สู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบสถิติของประเทศเพื่อการวางแผนและติดตามผลการพัฒนาระดับประเทศและระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบูรณาการสถิติจากข้อมูลการบริหารงานและสถิติจากการสำรวจและการเชื่อมโยงสถิติ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพสถิติให้ได้มาตรฐานสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การให้บริการสถิติที่สะดวกต่อการเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาสมรรถนะบุคลากรภาครัฐในด้านสถิติและเทคโนโลยีดิจิทัล
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
การขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ในปี 2564 - 2565 มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมหลายประการที่สะท้อนให้เห็นถึงการเร่งผลักดันหรือขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมสำคัญต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายและสามารถรองรับการพัฒนาในระยะต่อไปตามแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมีการปรับปรุงกลไกคณะกรรมการฯ/คณะอนุกรรมการ ให้มีความเหมาะสมทิศทางการพัฒนาสถิติทางการปัจจุบันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการสนับสนุนให้หน่วยงานจัดทำระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ หรือ GD Catalog ที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดสำนักงาน ก.พ.ร. ในการพัฒนาส่วนราชการสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล มีการจัดทำมาตรฐานสถิติร่วมกับหน่วยสถิติอย่างต่อเนื่องและมีการนำเสนอ ครม.เพื่อประกาศใช้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสถิติและเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านหลายโครงการทั้งในระดับพื้นฐานและหลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ที่ต้องการบุคลากรให้มีสมรรถนะที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง