Thailand Statistical System Master Plan
Thailand Statistics System Master Plan No. 2 (2016 - 2021)
แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 - 2564) เป็นแผนแม่บทฯ ที่มีการพัฒนาการดำเนินงานให้ต่อเนื่องจากแผนฉบับแรก ทำให้มีการดำเนินโครงการเพื่อบูรณาการข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนเพื่อพัฒนางานสำรวจและสำมะโนหลายโครงการ การจัดทำมาตรฐานสถิติที่สำคัญของประเทศ การพัฒนารูปแบบและวิธีการบริการสถิติผ่านแอปพลิเคชัน (Application) และการพัฒนาหลักสูตรด้านสถิติและเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งในระดับจังหวัดมีการจัดทำชุดข้อมูลตามแผนพัฒนาจังหวัดและประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัด (Pain Points) เพิ่มเติม รวมถึงมีการให้องค์ความรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแปลงข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบเอกสารให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์เพื่อสะดวกต่อการใช้งานและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้นตามโจทย์ที่ท้องถิ่นต้องการของสำนักงานสถิติทั่วโลก
โดยแผนแม่บทระบบสถิติฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559-2564) มีเป้าประสงค์หลัก คือ การพัฒนาข้อมูลสถิติให้มีมาตรฐาน คุณภาพ และการบูรณาการ/การแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานสู่การนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการตอบโจทย์การตัดสินใจและกำหนดนโยบาย การพัฒนาทุกระดับ (ประเทศ ภารกิจ และพื้นที่) ซึ่งแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งการบริการโครงสร้างพื้นฐานกลางภาครัฐ และการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการพื้นฐานภาครัฐ ตลอดจนการสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะสนับสนุน ส่งเสริม และเอื้ออำนวยความสะดวกให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบสถิติของประเทศเพื่อการวางแผนและติดตามผลการพัฒนาระดับประเทศและระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบูรณาการสถิติจากข้อมูลการบริหารงานและสถิติจากการสำรวจและการเชื่อมโยงสถิติ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพสถิติให้ได้มาตรฐานสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การให้บริการสถิติที่สะดวกต่อการเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยสถิติและการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรภาครัฐในด้านสถิติและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
การขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ในปี 2559 - 2563 ทำให้เกิดการพัฒนาด้านข้อมูลสถิติตามบริบทการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ โดยมีการดำเนินโครงการเพื่อบูรณาการข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีอยู่เพื่อพัฒนางานสำรวจและการศึกษาการใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลใหม่ ๆ การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระดับชุมชน การบูรณาการเพื่อส่งเสริมและจัดทำมาตรฐานการผลิตสถิติของประเทศ การพัฒนารูปแบบและวิธีการบริการข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการพัฒนาหลักสูตรด้านสถิติและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรภาครัฐจากหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละหลักสูตรจำนวนมาก