แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2560”
แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2560”
วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560” ณ โรงแรม รอยัลปริ๊นเซส หลานหลวงกรุงเทพฯ พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “การนำผลการสำรวจความพิการไปใช้ในการกำหนดนโยบาย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1) นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา 3) นายปราโมทย์ ธรรมสโรช เลขานุการสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และดำเนินการเสนวนา โดย นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2560”
วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560” ณ โรงแรม รอยัลปริ๊นเซส หลานหลวงกรุงเทพฯ พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “การนำผลการสำรวจความพิการไปใช้ในการกำหนดนโยบาย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1) นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา 3) นายปราโมทย์ ธรรมสโรช เลขานุการสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และดำเนินการเสนวนา โดย นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล การสำรวจความพิการครั้งนี้ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย สนับสนุนทางด้านวิชาการและทรัพยากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการสำรวจและผลิตข้อมูลที่มีคุณภาพสามารถสะท้อนสถานการณ์ของผู้พิการของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงผลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจความพิการเป็นประจำทุก 5 ปี ได้สำรวจมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2545 2550 และ 2555 สำหรับการสำรวจปี 2560 นี้เป็นครั้งที่ 4 เก็บรวบรวมข้อมูลเดือนตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2560 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 109,000 ครัวเรือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประชากรพิการ (คือ ผู้ที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ หรือมีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา อย่างน้อย 1 ประเภท) ได้แก่ ข้อมูลภาวะสุขภาพ สวัสดิการ การใช้เครื่องช่วย การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งข้อมูลผู้ดูแลของประชากรพิการที่มีความลำบากในการดูแลตนเอง การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 เป็นครั้งแรกที่ใช้ชุดคำถามความพิการของเด็กอายุ 2-17 ปี (Child Functioning Module: CFM) ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มวอชิงตัน (WashingtonGroup: WG) และองค์การยูนิเซฟเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะความพิการที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และใช้ชุดคำถามความพิการของกลุ่มวอชิงตัน สำหรับผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปอีกด้วย นอกจากนี้การสำรวจฯ ยังระบุความพิการจากลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา โดยสอบถามข้อมูลของประชากรทุกกลุ่มอายุตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นไปซึ่งสะท้อนภาพรวมของผู้พิการครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลสถิติผู้พิการที่จำเป็นต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนนโยบายสำหรับผู้พิการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลการสำรวจความพิการครั้งนี้ พบว่า ประเทศไทยมีประชากรพิการประมาณ 3.7 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5 ของประชากรทั่วประเทศ โดยพบผู้หญิงมีร้อยละของผู้พิการสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย (ร้อยละ 5.7 และ 5.2 ตามลำดับ) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 20.6 นอกจากนี้ยังพบว่า นอกเขตเทศบาลมีร้อยละประชากรพิการมากกว่าในเขตเทศบาล (ร้อยละ 6.2 และ 4.5 ตามลำดับ) โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรพิการสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 7.0 และ 6.5 ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาตามลักษณะความพิการ พบว่า เป็นประชากรที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม มีร้อยละ 4.1 หรือประชากรที่มีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา มีร้อยละ 4.2 สำหรับประชากรที่มีทั้งสองลักษณะ คือมีความลำบาก/ปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่อง มีร้อยละ 2.8 (1.9 ล้านคน) จากการสำรวจการเข้าถึงความช่วยเหลือหรือสวัสดิการของรัฐและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า ประชากรพิการเกือบทุกคนได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ (ร้อยละ 98.5) ประชากรพิการได้จดทะเบียนคนพิการร้อยละ 44.4 ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการร้อยละ 43.8 และมีเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 ที่จดทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ ซึ่งอาจจะอยู่ในระหว่างดำเนินการหรือยังไม่ได้ยื่นขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการ สำหรับประชากรพิการที่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการมีมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55.6) ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการจดทะเบียน (รวม ไม่คิดว่าตนเองพิการ) หรือความพิการไม่อยู่ในระดับที่จดทะเบียนได้ซึ่งมีค่อนข้างมากถึงร้อยละ 48.0 และมีอีกเพียงเล็กน้อยร้อยละ 7.6 ที่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการเนื่องจากไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียน ไม่มีคนพาไป และเดินทางไม่สะดวก เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีประชากรพิการอีกร้อยละ 15.1 มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยแต่ไม่มี และผู้พิการ 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.2) ต้องการความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐแต่ยังไม่ได้รับ ซึ่งความช่วยเหลือที่มีความต้องการมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และการให้คำแนะนำปรึกษา นอกจากนี้พบว่าเด็กพิการวัยเรียนอายุ 5-17 ปี มีถึงร้อยละ 37.8 ที่ปัจจุบันไม่ได้เรียน (รวมเด็กที่ไม่เคยเรียนหรือเคยเรียนแต่ปัจจุบันไม่ได้เรียน) ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่เนื่องจากป่วยหรือพิการจนกระทั่งไม่สามารถเรียนได้ รองลงมา คือ จบการศึกษาแล้ว และมีปัญหาทางความประพฤติ เป็นต้น สำหรับประชากรพิการวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี)เพียงร้อยละ 40.6 ที่มีงานทำ ส่วนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของประชากรพิการอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนน้อยมากคือ ผู้พิการที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีเพียงร้อยละ 5.8 และ 9.2 ตามลำดับ ผลการสำรวจข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชากรพิการยังได้รับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐบาล ไม่ครบถ้วนเพียงพอในเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การจดทะเบียนคนพิการ และอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับผู้พิการ ดังนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนช่วยเหลือผู้พิการในเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข่าว/ประกาศ (ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์)
แถลงผล “การสำรวจความพิการ พ.ศ.2560”
ข่าว/ประกาศ (ข่าวสื่อมวลชน)