ข่าวกิจกรรม/ประชาสัมพันธ์
สำนักงานสถิติฯเผยการออมภาคครัวเรือนของไทยไตรมาส 3 ปี 2561
สำนักงานสถิติฯเผยการออมภาคครัวเรือนของไทยไตรมาส 3 ปี 2561
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 21.6 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นครัวเรือนในเขตเทศบาลจำนวน 10.1 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.6 และเป็นครัวเรือนนอกเขตเทศบาลจำนวน 11.5 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.4 โดยพบว่าหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเป็นเพศชายร้อยละ 61.8 และเป็นเพศหญิงร้อยละ 38.2 สะท้อนลักษณะโครงสร้างครัวเรือนไทยที่ส่วนใหญ่ให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครัวเรือน จากครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 21.6 ล้านครัวเรือน พบว่ามีครัวเรือนที่มีการออมเงิน 15.7 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 72.9 และอีก 5.8 ล้านครัวเรือนหรือร้อยละ 27.1 ไม่มีเงินออม เมื่อพิจารณาวิธีการจัดสรรเงินออมของครัวเรือนที่แตกต่างกัน โดยครัวเรือนจะนำเงินที่ได้ไปจับจ่ายใช้สอยก่อนเมื่อเหลือจากการใช้จ่ายแล้วจึงจะเก็บออมร้อยละ 38.9 ในขณะที่ครัวเรือนที่แบ่งส่วนของเงินออมไว้ก่อนที่จะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยคือร้อยละ 22.6 ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกลุ่มที่มีการวางแผนเก็บออมอย่างจริงจังค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่หลายครัวเรือนยังคงมีความไม่แน่นอนในการจัดสรรเงินออมถึงร้อยละ 38.5 เป็นที่น่าสังเกตว่า ครัวเรือนยังมีความกังวลกับการที่จะเก็บออมซึ่งอาจเกิดจากหลายๆปัจจัย เช่น ปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น หรืออาชีพยังไม่มีความมั่นคงพอที่จะวางแผนการออม เมื่อเปรียบเทียบการออมพบว่าจำนวนครัวเรือนที่มีการออมในปี 2561 เพิ่มจากปี 2559 ถึงร้อยละ 6.2 (ปี 2559 ร้อยละ 66.7 และปี 2561 ร้อยละ 72.9 ตามลำดับ) สะท้อนให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมานั้น สัดส่วนของครัวเรือนมีการเก็บออมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ครัวเรือนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์หลักของการออมเพื่อใช้จ่ายในยามชรา หรือเกษียณอายุร้อยละ 42.1 เพื่อใช้จ่ายยามเจ็บป่วย/ฉุกเฉินร้อยละ 32.0 เพื่อใช้จ่ายเมื่อเว้นว่างจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว/ทำการเกษตร/ทำธุรกิจร้อยละ 9.7 เพื่อใช้ในการศึกษาร้อยละ 7.9 จัดหาเครื่องอำนวยความสะดวกและยานพาหนะร้อยละ 4.2 เพื่อมีบ้านเป็นของตัวเองร้อยละ 3.7 และอื่นๆอีกร้อยละ 0.4 เช่น ค้ำประกันเงินกู้ มรดก ท่องเที่ยว พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th นายภุชพงค์ฯ กล่าว