News Activities/Public Relations
คนไทยกินอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อเพิ่มขึ้น
คนไทยกินอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อเพิ่มขึ้น
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ. 2560 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากครัวเรือนส่วนบุคคลตัวอย่างในเดือนมีนาคม 2560 จากครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 27,960 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 89.4 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทานอาหารมื้อหลักในแต่ละวันครบ 3 มื้อ โดยกลุ่มวัยเด็ก (6-14 ปี) และกลุ่มวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 92.8 และต่ำสุดในกลุ่มวัยเยาวชน (15-24ปี) ร้อยละ 87.4 เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจกับปีที่ผ่านมา พบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปมีพฤติกรรมบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 82.2 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 87.1 88.0 และ 89.4 ในปี 2552 2556 และ 2560 ตามลำดับในเรื่องของรสชาติอาหารในมื้อหลักที่ทานเป็นประจำ ส่วนใหญ่ทานรสจืดร้อยละ 38.4 รองลงมา คือ รสเผ็ดร้อยละ 26.2 รสหวาน ร้อยละ 14.2 รสเค็ม ร้อยละ 13.8 รสเปรี้ยว ร้อยละ 4.8 และรสอื่นๆร้อยละ 2.6 สำหรับสิ่งที่คนส่วนใหญ่คำนึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนเลือกซื้ออาหาร คือ ความชอบ ร้อยละ 22.1 รองลงมา คือ รสชาติ ความอยากทาน และความสะอาด ร้อยละ 18.5 18.2 และ 17.8 ตามลำดับ คุณค่าทางโภชนาการ ร้อยละ 12.9 ความสะดวกรวดเร็ว และราคา ร้อยละ 10.5 นายภุชพงค์ฯ ยังกล่าวว่า อาหารทุกมื้อล้วนแต่มีความสำคัญ และจากการศึกษาวิจัย อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดสำหรับการให้พลังงาน เพื่อเริ่มต้นกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านความจำ อารมณ์ และความกระตือรือร้น เป็นต้น แต่ด้วยความเร่งรีบอาจทำให้คนละเลยอาหารมื้อเช้ากันพบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th นายภุชพงค์ฯ กล่าว